TEDxBangkok 2016 : Morning Session

แชร์ไปยัง:

จบลงไปแล้วสำหรับงาน TEDxBangkok 2016 เวทีเผยแพร่ความคิดที่แสนสร้างสรรค์ ที่มาภายใต้แนวคิด Learn. Unlearn. Relearn. ในวันนี้เราจะมาสรุปใจความสำคัญของแต่ละ Talk ของช่วงเช้าให้ฟังกัน

1. ดร.กันตภณ สุระประสิทธิ์ (ด้อม)

Talk แรก เริ่มจากด้อม ผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านบรรพชีวินวิทยามาหมาดๆ ถือได้ว่าเป็นผู้ที่เรียนรู้ประวัติศาสตร์จากซากสัตว์ดึกดำบรรพ์ใต้ผืนโลก ด้อมจะมาไขปริศนาว่าลำปางเมื่อ 13 ล้านปีที่แล้วหน้าตาเป็นอย่างไร โดยตั้งต้นจากฟอสซิลฟันเพียงซี่เดียว

kantapon

  • ด้อมขึ้นเวทีพร้อมกับก้อนหินก้อนหนึ่ง ซึ่งอัดแน่นไปด้วยประวัติศาสตร์ของโลก และตัวตนของเขาเอง
  • ด้อมเล่าให้เราฟังว่าแรงบันดาลใจในการศึกษาค้นคว้าด้านนี้ เกิดขึ้นตอน 7 ขวบ เมื่อได้ไปเข้าค่ายขุดไดโนเสาร์และพบว่า ก้อนอะไรสักอย่างที่อยู่บนพื้นที่ทุกคนเดินผ่านไปอย่างไม่ไยดี เมื่อขุดขึ้นมากลายเป็นฟอสซิลท่อนขาไดโนเสาร์
  • ด้อมพาเราย้อนไปดูจังหวัดลำปางเมื่อ 13 ล้านปีมาแล้ว และหินก้อนที่ถือไว้ตั้งแต่เดินขึ้นเวที ก็คือฟอสซิลฟันสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่คล้ายกวางในปัจจุบัน จากการศึกษาไอโซโทป พบว่าสัตว์ดึกดำบรรพ์ดังกล่าวกินหญ้าเป็นหลัก นอกจากนี้ยังพบฟอสซิลของสัตว์อีกหลายชนิดในพื้นที่ใกล้ๆ กัน จึงอนุมานย้อนหลังไปได้ว่าลำปางในอดีต ไม่ได้มีสภาพเป็นป่าไปทั้งหมด แต่เป็นทุ่งหญ้าสลับกับป่า
  • แค่ฟอสซิลฟันเพียงซี่เดียวของสัตว์ จึงสามารถบอกเล่าเรื่องราวได้อย่างมหาศาล
  • ด้อมเป็นนักบรรพชีวินวิทยา ซึ่งมีหน้าที่สร้างภาพยนตร์ที่มีความยาวมากที่สุดในโลก บอกเล่าเรื่องราวของโลก ที่เรียกว่า “ธรณีประวัติ”
  • เมื่อมองย้อนไป โลกมีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สลับระหว่างโลกร้อนและยุคน้ำแข็งมาแล้วหลายครั้ง บรรพชีวินวิทยาจึงเป็นศาสตร์ที่ศึกษาอดีต เพื่อมองว่าปัจจุบันเป็นอย่างไร ก่อนจะมุ่งไปสู่อนาคต
  • “ที่ผมสามารถมองได้ไกล เพราะผมยืนอยู่บนไหล่ของไดโนเสาร์”
2. นพ.อัศวิน นาคพงศ์พันธุ์ (ตั้ม) และพญ.พรพิมล นาคพงศ์พันธุ์ (ก้อย)

จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นเจ้าของเพจ “เลี้ยงลูกให้เป็นคนปกติ” ที่มาพูดให้พ่อแม่ทุกคนลองใคร่ครวญ พิจารณาวิธีการเลี้ยงลูกของแต่ละคน ว่ากำลังรักลูกอย่างถูกทางอยู่หรือไม่

aswin-ponpimon

  • พ่อแม่มักจะมีความคาดหวังที่จะให้ลูกเป็นคนเก่งและคนดี เพราะเชื่อว่าสองสิ่งนี้จะนำมาซึ่งความสุข ตามสมการ เก่ง+ดี = มีความสุข แต่มันเป็นความจริงเสมอไปหรือไม่?
  • หมอตั้มยกตัวอย่างด.ญ.นิด ที่เรียนเก่ง สอบได้คะแนนติด 1 ใน 5 ของห้องอยู่เสมอ พ่อแม่คาดหวังให้เรียนต่อคณะแพทยศาสตร์ ทั้งยังจิตใจดี ช่วยติวหนังสือให้เพื่อนก่อนสอบเป็นประจำ แต่ม.6 เทอมหนึ่ง นิดเริ่มเจ็บป่วยจากความเครียดโดยไม่รู้ตัว และถูกพาเข้าห้องฉุกเฉินเนื่องจากตัดสินใจกินยาฆ่าตัวตายเพราะสอบได้คะแนนไม่ติด 1 ใน 10 ของห้อง แท้จริงแล้ว เธอไม่มีความสุขเลย นิดไม่ได้อยากเป็นหมอ เธอพยายามจะเป็นหมอเพราะต้องการให้พ่อแม่มีความสุข เธอติวให้เพื่อนเพราะกลัวเพื่อนไม่ยอมรับ
  • หลักในการเลี้ยงลูกให้เป็นคนปกติ คือสอนให้เด็กชื่นชมตัวเองได้ ให้อภัยตัวเองเป็น พัฒนาลูกให้ไปตามทางของตัวเขาเอง รู้จักการทำดีกับตัวเองโดยการไม่เบียดเบียนผู้อื่น และทำดีกับผู้อื่นโดยการไม่เบียดเบียนตนเอง
  • ในขณะเดียวกัน ในโลกนี้ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ พ่อแม่ก็ต้องพัฒนาไปพร้อมกับลูก หรืออาจจะต้องนำหน้าลูกด้วยซ้ำ เพราะลูกจะซึมซับทุกๆ การกระทำของพ่อและแม่เสมอ
  • เราอาจจะไม่เป็นคนเก่งหรือดีอย่างที่เราหรือพ่อแม่ของเราตั้งเป้าหมายไว้ อย่างไรก็ตาม เราก็สามารถมีโอกาสที่จะเป็นคนปกติที่ใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข
3. นักรบ มูลมานัส (โต๊ด)

ศิลปินนักทำภาพ Collage ยุคใหม่ ที่พยายามตั้งคำถามถึงความเป็นไทย

nakrob

  • โต๊ดเริ่มต้นด้วยการให้ทุกคน Google ว่า “ความเป็นไทย” คืออะไร
  • ความเป็นไทยที่แท้เป็นการผสมผสานความหลากหลายทางวัฒนธรรมจากแหล่งต่างๆ แล้วเลือกรับปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบททางสังคมและยุคสมัย หาใช่การแช่แข็งและยกย่องบูชาไว้บนหิ้ง
  • สัญลักษณ์ของความเป็นไทยหลายๆ อย่างในปัจจุบัน ล้วนมีที่มาจากความไม่ไทย ยกตัวอย่างเช่น คำว่า “สวัสดี” เป็นคำยืมมาจากภาษาสันสกฤต พระปรางค์วัดอรุณซึ่งเป็นสิ่งปลูกสร้างสุดชิคในยุคนั้นได้รับแรงบันดาลใจมาจากสถาปัตยกรรมกัมพูชา กระเบื้องที่ประดับนำเข้ามาจากจีน และทำนองเพลงชาติไทยที่เราได้ยินกันอยู่ทุกค่ำเช้า แต่งโดยพระเจนดุริยางค์ ซึ่งเป็นลูกครึ่งไทย-เยอรมัน และได้รับอิทธิพลมาจากเพลงชาติโปแลนด์
  • การทําลายวัฒนธรรมไม่มีจริง วัฒนธรรมต่างหากที่ถูกคนลืมเลือน และความเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ธรรมดา
  • ปัจจุบันคนไทยบางกลุ่มจึงนิยมฟังเพลงสากล กินไก่เกาหลี หรือเล่นเกมโปเกมอน มองหาความเป็นไทยรอบตัวไม่ค่อยเจอ เพราะเรายังไม่ได้คำนึงถึงการที่จะอนุรักษ์ ต่อยอด หรือดึงความเป็นไทยที่แท้จริงเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวัน
4. สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ (ชิ)

ปิดท้ายช่วงแรกด้วยการแสดงจากชิ นักดนตรีและอาจารย์ด้านชาติพันธุ์ชาวปกาเกอะญอ ผู้เป็นกระบอกเสียงบอกเล่าเรื่องราวจากพงไพร เพื่อทำลายอคติทางด้านชาติพันธุ์

suwichan

  • “ปกาเกอะญอ” แปลว่า “มนุษย์” หมายถึงความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน
  • ชาวปกาเกอะญอ ถือคติว่า ถ้าอยากกินปลา ต้องดูแลแม่น้ำ อยากปลูกข้าว ต้องดูแลดิน อยากมีน้ำ ต้องดูแลป่า
  • ชิ สุวิชาน เป็นตัวแทนของชาวปกาเกอะญอ มาถามชาว #TEDxBangkok ว่า แล้วจะให้เราทำอย่างไร? เมื่อคนกินข้าวไม่เคยเห็นเมล็ดข้าว เมื่อคนกินน้ำไม่เคยดูแลแม่น้ำ
  • บรรพบุรุษของชาวปกาเกอะญอไม่เคยสอนว่าต้องทำให้นำ้ท่วม ฝนแล้ง หรือสร้างปัญหาหมอกควัน แต่เวลาเกิดเรื่องพวกนี้คนมักชี้มาที่ปกาเกอะญอ ทั้งยังไม่เคยสอนว่า ต้องไปตกปลา ปลูกข้าว ปลูกกล้วย ปลูกข้าวโพดที่แผ่นดินคนอื่น ไม่เคยสอนให้เป็นเจ้าของและผูกขาดเมล็ดพันธุ์และพันธุ์สัตว์
  • การบรรเลงดนตรีของชิ ที่มีทั้งพิณปกาเกอะญอ “เตหน่ากู” และเครื่องดนตรีสากลอยู่ด้วยกัน เป็นสิ่งพิสูจน์ว่า เครื่องดนตรีและวัฒนธรรมยังมาอยู่ร่วมกันได้ แล้วทำไมคนเราจะอยู่ร่วมกันไม่ได้
5. อนุทิน วงสรรคกร (นุ)

ช่วงที่สอง เริ่มต้นด้วย Talk จากนักออกแบบฟอนต์ที่จะมากระตุกต่อมความคิดว่าด้วยความสำคัญของการใช้ฟอนต์เป็นสื่อทดแทนเสียงในการสื่อสาร

anutin

  • หลักการออกแบบฟอนต์ ไม่ได้เน้นที่พื้นที่สีดำ แต่เน้นการออกแบบพื้นที่ว่างสีขาว ที่จะทำให้ฟอนต์อ่านออกและใช้สื่อสารได้ตามที่ต้องการ
  • จากยุคสมัยที่เราใช้ตัวตะกั่วเรียงพิมพ์ สู่ยุคการใช้เมาส์เพื่อคลิกแบบฟอนต์จากฟอนต์เมนู ทำให้เลขาหน้าห้องและนักออกแบบมีอำนาจเท่ากัน ทั้งยังนำความสะดวกรวดเร็วเข้ามาสู่ชีวิตของเรา แต่ต้องแลกกับการยอมสูญเสียอัตลักษณ์อันเกิดจากลายมือของเราแต่เดิม ทั้งเรายังละเลยความสำคัญของฟอนต์และการใช้ฟอนต์เพื่อเป็น “เสียง” แทนการสื่อสารของเรา
  • นุเล่าเรื่องรปภ. “พี่มา” ที่มีเสียงเล็กแหลมผิดกับรูปลักษณ์จนทุกคนจำได้ เปรียบได้กับการใช้ฟอนต์ไม่ตรงกับเสียงที่เราต้องการจะสื่อ
  • ฟอนต์เป็นตัวบ่งชี้ความเจริญและเป็นตัวสะท้อนสังคม ความหลากหลายของฟอนต์ จึงหมายถึงเสียงอันหลากหลายของสังคมด้วย
  • สภาพของกรุงเทพฯ ที่เปลี่ยนไป ฟอนต์ที่เหมาะสมกับความเป็นกรุงเทพฯ จีงมีหน้าตาที่เปลี่ยนไปจากสมัยก่อนด้วย
  • “เมื่อนึกถึงภาษาไทยของวันนี้ พรุ่งนี้ หรือวันต่อๆ ไป เราควรที่จะได้ยินเสียงแบบไหน?”
6. จารุวรรณ สุพลไร่ (เน้ตติ้ง)

ผู้หญิงตัวเล็กๆ ผู้ใช้เวลา 5 เดือนเดินทางข้ามผ่านพรมแดนประเทศเพื่อนบ้านลุ่มแม่น้ำโขง 5 ประเทศ รวมระยะทางกว่า 5,000 กิโลเมตร จนค้นพบว่า แท้ที่จริงแล้ว ความเป็นมนุษย์นั้นไม่มีพรมแดน

charuwan

  • พื้นเพเป็นคนอุบลราชธานี เมื่อตัดสินใจจะออกเดินทางไปยังประเทศเพื่อนบ้านแถบลุ่มแม่น้ำโขง 5 ประเทศด้วยตัวคนเดียว มีแต่คนถามว่า “เดินทางคนเดียวไม่กลัวเหรอ”
  • ตลอดการเดินทาง เน้ตติ้งได้เพื่อนใหม่ๆ มากมาย ซึ่งดูแลเธอเสมือนเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน แม้ผู้คนจะพูดด้วยภาษาต่างกัน แต่แท้จริงแล้วเราใช้ภาษาเดียวกันในการสื่อสาร นั่นคือภาษาแห่งความเป็นเพื่อนมนุษย์
  • เน้ตติ้งเล่าว่าเธอได้พบกับความโอบอ้อมอารีของชาวมุสลิมบนรถไฟไปเมาะลำไย ประเทศพม่า เธอพบว่าการขึ้นลงของน้ำที่เปลี่ยนไปจากการสร้างเขื่อน ทำให้ระบบนิเวศสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงที่เวียดนามได้รับผลกระทบ บ้านเพื่อนที่ลาวทำเกษตรอินทรีย์ ซึ่งได้รับความรู้มาจากฝั่งไทย จนสร้างแรงบันดาลใจให้เธอกลับไปปลูกผักอินทรีย์ที่บ้านของเธอเองบ้าง
  • เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้น เรามักจะรับรู้เรื่องของประเทศเพื่อนบ้านผ่านสื่อ นั่นทำให้เราเกลียดกันไปแล้วทั้งๆ ที่ยังไม่เคยได้รู้จักกัน
  • “In the end…I see no borders at all. All that will remain is the land, the river, and the sea.”
  • “Humanity is borderless.”
7. สมชัย กวางทองพานิชย์ (อาเจ็กสมชัย)

พ่อค้าขายเขือกย่านสำเพ็งผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ชุมชนที่ชวนให้เราลงมือค้นคว้าเรื่องราวในซอยบ้านตัวเอง

somchai

  • อาเจ็กสมชัยเริ่มด้วยการให้ข้อมูลว่าบ้านของตนเองอยู่บนแบงก์ 20 (รุ่นเก่า) และยังพบด้วยว่าซอยบ้านของอาเจ็กอยู่ระหว่างลำคลองสองเส้นที่ถูกถมไปแล้วในช่วงต้นรัตนโกสินทร์
  • เครื่องมือที่อาเจ็กใช้ในการศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชน ได้แก่ เรื่องเล่า หนังสือ แผนที่ และภาพถ่ายเก่า เครื่องมือแต่ละชิ้นต่างก็มีเสน่ห์ และมีความสนุกในการใช้งานในแบบของมัน
  • เราทุกคนสามารถเป็นนักประวัติศาสตร์ชุมชนในพื้นที่ของตัวเองได้ ไม่ต้องรอนักวิชาการ เพราะเราเป็นผู้ที่รู้จักตรอกซอกซอยแถวบ้านเราเองดีที่สุด
  • ปัจจุบันเรามีเทคโนโลยีมากมายที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ เช่น มือถือที่ถ่ายรูปได้ และภาพถ่ายดาวเทียมที่อยู่บนอินเทอร์เน็ต
  • อาเจ็กสมชัยชวนให้เราถ่ายรูปเก็บไว้เยอะๆ เพราะภาพเก่าที่เราเห็น สมัยก่อนมันเป็นภาพใหม่ที่คนสมัยนั้นถ่ายเก็บไว้
  • มันเป็นเรื่องไม่ยากเลยที่เราจะเพิ่มคุณค่าให้กับชุมชนของเรา เพียงแค่เพิ่มเติมเรื่องเล่าที่เป็นความจริงในอดีตเข้าไป
8. นิรันดร์ บุญยรัตนพันธุ์ (น้าต๋อย เซมเบ้)

หนึ่งใน Speaker สุดเอ็กซ์คลูซีฟและถือเป็นไฮไลท์ของงานในช่วงเช้า คือนักพากย์ผู้เป็นตำนานของเมืองไทย น้าต๋อย เซมเบ้

niran

  • น้าต๋อย เซมเบ้ ถอดบทเรียนจากการเป็นนักพากย์กว่า 33 ปี ผ่านการตั้งคำถามว่า “การ์ตูนให้อะไรกับเราบ้าง”
  • การ์ตูนให้ความสนุกสนาน สร้างความสุข และทำให้เราทุกคนเคยยอมตื่นเช้า! ทั้งยังเป็นเครื่องเตือนความจำว่าในสมัยเด็กเราเคยสดใส เคยมีจินตนาการที่โลดแล่นกันขนาดไหน
  • ช่วงขณะที่น้าต๋อยป่วยหนัก น้าต๋อยนึกถึงตัวการ์ตูน “ซุน โงกุน” แล้วมีแรงฮึดลุกขึ้นสู้ เพราะซุน โงกุนเป็นตัวเอกที่บาดเจ็บปางตายจากการต่อสู้กับศัตรูหลายต่อหลายครั้ง แต่ก็ยังสามารถเอาชนะมาได้ และคิดว่าเราที่เป็นคนพากย์ “ซุน โงกุน” เอง จะยอมแพ้ได้ยังไง
  • ในยุคที่เรามักจะมองว่าการ์ตูนมีแต่เรื่องลามกและส่งเสริมความรุนแรง เริ่มมีคนตั้งคำถามว่า “เด็กที่ดูการ์ตูน โตขึ้นมันจะเป็นยังไง” น้าต๋อยได้คำตอบจากตัวเองว่า เด็กเหล่านั้นนั่นเองที่โตขึ้นมาเป็นคนช่วยชีวิตน้าต๋อย
  • ความสุขของความฝันไม่เกี่ยวกับว่าความฝันเราจะสำเร็จหรือไม่ แต่ความสุขของความฝันคือการได้ลงมือทำ หลายครั้งที่น้าต๋อยทำตามความฝัน ถึงมันจะไม่สำเร็จแต่มันก็มีความสุขที่ได้ทำ
9. Bangkok Swing – ชยะพงส์ นะวิโรจน์ (โอ๊ต)

ปิดท้ายช่วงเช้าด้วยการแสดงจากกลุ่ม Bangkok Swing ซึ่งถือกำเนิดมาจากการปลุกปั้นของโอ๊ต ต่อด้วยการแชร์เคล็ดลับที่เขาใช้ในการปลุกปั้นชุมชนนักเต้นเท้าไฟที่เริ่มจากศูนย์

bangkok-swing

  • ในขณะที่เรียนอยู่ต่างประเทศ โอ๊ตได้สัมผัสกับการเต้นสวิง แต่ในประเทศไทย การเต้นสวิงไม่ได้รับความนิยมและแทบไม่มีคนรู้จัก เขาจึงตัดสินใจริเริ่มการเต้นประเภทนี้ขึ้น ตั้งต้นจากชั้นเรียนเต้นที่มีนักเรียนเพียงคนเดียว จนปัจจุบันกลายเป็นกลุ่ม Bangkok Swing ที่มีสมาชิกกว่าพันคนสลับสับเปลี่ยนกันไป
  • โอ๊ตให้แนวทางในการสร้างชุมชนเอาไว้ว่า เราต้องมีความบ้าคลั่ง (craziness) ในเรื่องที่เราสนใจจริงๆ ก่อน แล้วแพร่เชื้อความบ้าคลั่งนั้นไปให้ผู้อื่น และเมื่อมีคนเข้ามาร่วมมากขึ้น เราต้องรักษาจุดยืนของเราเอาไว้ให้ได้
  • โอ๊ตเปรียบการสร้างชุมชนที่ดีให้เป็นเหมือนป่า ระบบนิเวศที่ดีเกิดจากสัตว์แต่ละชนิดที่ต่างมีส่วนร่วมในการสร้างป่า เปรียบเสมือนกับการเปิดโอกาสให้สมาชิกทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างการเจริญเติบโตของชุมชนได้
  • นอกจากนี้ยังต้องทำให้กลุ่มมีลักษณะเหมือนสนามเด็กเล่นที่มีความปลอดภัยมากพอที่พ่อแม่ไว้วางใจที่จะพาลูกหลานให้เข้ามาเล่นได้ เราจะต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยที่ไร้การตัดสินที่เอื้อให้ทุกคนได้มีโอกาสสัมผัสความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกัน
  • “We transformed from a small community into a movement.”
  • “I hope find the craziness hidden inside you. I hope you get to grow, move, and create what you love.”

ด้านบนทั้งหมดเป็นแค่น้ำจิ้มเล็กๆ น้อยๆ ของแต่ละ Talk เท่านั้น ติดตามรอชมวิดีโอ Talk ฉบับเต็มได้ที่นี่ เร็วๆ นี้ รวมไปถึงสรุป Talk ในช่วงบ่ายที่กำลังจะตามมาอีกด้วย

ศุภกิจ พัฒนพิฑูรย์, จุติพร กลัดทิม, อังคนา นฤหล้า : ช่วยกันเขียน
ผู้เขียน: mountain

Read More